บ้านคอนกรีตโมเดิร์นมินิมอล

บ้านคอนกรีตโมเดิร์นมินิมอล แบบบ้านความเรียบง่าย เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการสร้างบ้านที่ได้รับความนิยมมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะเมื่อก้าวเท้าพ้นจากขอบเขตบ้านเราก็ต้องเผชิญกับเสียง ครัว ฝุ่น รถรา ผู้คน ยังไม่รวมเรื่องราววุ่นวายในแต่ละวัน บ้านจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะทิ้งทุกสิ่งที่วุ่นวายเอาไว้นอกเขตรั้ว อย่างไรก็ตามการสร้างบ้านสไตล์มินิมอลก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะจะต้องมีสิ่งที่ยิบย่อยในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของบ้าน Mood&tone ที่จะกำหนดสี วัสดุ ช่องเปิด ช่องแสง พื้นที่รับลม มุมมองภายในภายนอ การจัดพื้นที่สีเขียว ที่จะต้องลงตัวไม่มากแต่ก็ไม่น้อยจนดูไม่มีชีวิตชีวา
บ้านพื้นที่ใช้สอย 140 ตารางเมตรหลังนี้ สร้างอยู่ในมาคัซซาร์ (Makassar) ประเทศ อินโดนีเซีย การวางแผนการออกแบบเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านก่อน ครอบครัวนี้เป็นคู่สามีภรรยาที่มีลูก 2 คน จึงต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เรียบง่าย มีความยืดหยุ่นลื่นไหล ใกล้ชิดธรรมชาติ รากฐานของบ้านจึงมาจากแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตแบบมินิมอลง่ายๆ โดยการผสมผสานวัสดุคอนกรีตและเหล็กแผ่นในส่วนหน้าของอาคาร เพราะาเฉดสีเย็นๆ ของคอนกรีตสีเทาตัดกับสีขาวเพื่อให้ภายในดูสะอาดตาภายใน

จากแนวคิดการใช้ชีวิตแบบมินิมอง พื้นที่ซ้ำซ้อนและไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่น ห้องซักรีด ห้องแม่บ้าน ห้องเก็บอาหาร จึงถูกตัดออกจากแปลน ในชั้นจะมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับครอบครัว บริเวณทางเข้ามีทางเดินที่ทำหน้าที่เป็นห้องโถงก่อนจะเข้าสู่ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และพื้นที่รับประทานอาหารแบบเปิดโล่ง (open plan) ตรงกลางมีคอร์ดยาร์ดใช้เป็นสนามเด็กเล่นกลางแจ้ง ตลอดจนพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ที่มีประตูบานเลื่อนเข้าถึงได้ทุกทาง
ทีมงานใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างการแยกส่วนและเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ห้องครัว พื้นที่รับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่น ให้มีความเป็นสัดส่วนแต่ต่อเนื่อง โดยใช้คอร์ทยาร์ดทำหน้าที่เป็นกันชนไว้ตรงกลางของพื้นที่ แล้วทำผนังทุกด้านของบ้านที่ล้อมคอร์ดเป็นกระจกใสสูงจากพื้นถึงเพดาน จึงสามารถซึมซับวิวสวนได้โดยตรง กระจกยังทำให้ห้องดูกว้างขึ้น มีอิสระทางสายตามากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้อากาศหมุนเวียนและเพิ่มแสงธรรมชาติให้กับพื้นที่ชั้นล่างทั้งหมด
สาระสำคัญของเลย์เอาต์โดยรวมของชั้น 1 อยู่ที่ห้องครัวแบบเปิด ซึ่งเป็นตรงกลางเชื่อมต่อไปยังห้องทานข้าวด้านหนึ่ง และห้องนั่งเล่นอีกด้านหนึ่ง ครัวขนาดใหญ่ครบฟังก์ชันน่าใช้งานดูโปร่ง สว่าง และอบอุ่นด้วยสัมผัสของเฟอร์นิเจอร์ไม้ ผนังสีขาวยังช่วยเติมเต็มแนวคิดมินิมอลที่เจ้าของต้องการ ไม่เพียงแต่จากไลฟ์สไตล์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปลักษณ์ของบ้านทั้งหลังด้วย

เพดานบริเวณห้องครัวยังเปิดโล่งด้วยการทำ Void up เพื่อให้ดูสูง และมองเห็นวิวจากชั้น 2 ลงไปได้ สำหรับพื้นที่ชั้น 2 การจัดวางพื้นที่ปรับเปลี่ยนตามความต้องการหลักของเจ้าของบ้าน โดยจะมีห้องนอนใหญ่พร้อมวิวระเบียงและห้องนอนสำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังมีห้องฟิตเนสออกกำลังกายส่วนตัว เนื่องจากเจ้าของบ้านเป็นผู้ฝึกสอนฟิตเนสส่วนบุคคลการออกแบบบ้านในปัจจุบันไม่ได้ดูแค่เพียงดีไซน์ที่ชอบ วัสดุที่ใช่
ฟังก์ชันใช้งานทั้งหมดในบ้านก็ต้องสอดคล้องกับความต้องการ เพื่อที่จะจัดสรรให้แต่ละพื้นที่มีมากน้อยลดหลั่นกันไปตามรูปแบบการใช้งานเฉพาะในบ้านหลังนั้นๆ สิ่งไหนที่ไม่ต้องใช้ก็ตัดออก และอีกจุดหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความเป็นส่วนตัว บ้านยุคนี้จะมีแนวโน้มในการสร้างภาพบ้านที่ดูเป็นส่วนตัวจากสายตาคนภายนอก แล้วเลือกเปิดภายในแทน อาจจะทำบ้านรูปตัว H, U,L ที่ล้อมคอร์ทยาร์ดข้างใน แล้วใช้ผนังกระจกแทนผนังทึบ ทำให้บ้านดูเป็นอิสระ รับแสง รับลม ได้ แม้ภายนอกจะดูปิดก็ตาม
ทำไมบ้านปูนถึงเป็นที่นิยม

ความนิยมบ้านปูน ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบ้านปูน มีราคาถูก และแข็งแรงมากกว่า เมื่อเทียบกับบ้านไม้นับวันราคามีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันอายุการใช้งานของบ้านปูน ไม่ว่าจะเป็นบ้านปูนที่สร้างบนที่ดินของตัวเอง หรือบ้านปูนที่ซื้อจากโครงการบ้านจัดสรร ที่ปัจจุบันนิยมก่อสร้างด้วยระบบ Precast นั้น ด้วยโครงสร้างอาคารที่สร้างมาจากปูนซีเมนต์ ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานไม่ต่ำกว่า 50 ปี บางหลังหากดูแล และรีโนเวทอยู่เป็นประจำก็มีอายุใช้งานนับ 100 ปีเลยทีเดียว
ข้อดีของบ้านปูน เป็นอย่างไร?
- แบบบ้านปูนในปัจจุบัน มีให้เลือกจำนวนมาก เจ้าของบ้านสามารถออกแบบ และตกแต่งได้ตามชอบ
- ต้นทุนวัสดุก่อสร้างบ้านปูน ราคาไม่แพง แถมผลิตภัณฑ์ และชนิดของปูนในท้องตลาดปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย
- บ้านปูนสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศร้อน อากาศเย็น เช่น กลางวันในหน้าร้อน บ้านปูนจะอยู่เย็นสบาย เพราะปูนช่วยดูดซับความร้อน และในหน้าหนาว ปูนจะป้องกันลมเข้าบ้านได้ดีทำให้ภายในบ้านอบอุ่น
- บ้านปูนเก็บเสียงได้ดี และยังป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกตัวบ้านได้ดีกว่าบ้านไม้ นอกจากนั้น บ้านปูนป้องกันฝุ่นละออง ควัน และกลิ่นต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามารบกวนคนในบ้านได้ดี

ข้อเสียของบ้านปูน เป็นอย่างไร?
- บ้านปูนโดยส่วนใหญ่ มักมีปัญหาสีหมองง่าย หลุดลอกร่อน ทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องซ่อมบำรุง
- บ้านปูนมีความยืดหยุ่นน้อย ในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว บ้านปูนจึงเกิดผนังแตกร้าวได้ง่ายกว่าบ้านไม้ และบ้านโครงสร้างเหล็ก
- บ้านปูนจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นอับ และเกิดปัญหาเชื้อราบนผนังได้ง่าย โดยเฉพาะบ้านที่ไม่ได้ทาสีป้องกันเชื้อรา เพราะบ้านปูนระบายอากาศได้ไม่ดีนัก
- บ้านปูน หากได้รับการออกแบบไม่ดี หรือเลือกใช้โทนสีที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้บ้านดูมืดทึบ อยู่แล้วอึดอัด
- การเคลื่อนย้าย ปรับปรุง หรือต่อเติม บ้านปูนจะทำได้ยากกว่าบ้านโครงสร้างเหล็ก และบ้านไม้ โดยเฉพาะบ้านปูนที่ก่อสร้างด้วยระบบ Precast ซึ่งนิยมใช้ในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งหากต้องการต่อเติมห้อง จะต้องมีวิศวกรคุมงาน ดูแลและให้คำปรึกษา หรือไม่ก็ต้องทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่ อ่านเพิ่มเติม